ในชีวิตของแต่ละคนย่อมเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วย แม้ไม่ใช่ของตัวเองก็ของคนรอบข้าง เช่น แม่ป่วยเป็นมะเร็ง พ่อป่วยเป็นอัมพาฒ พี่ชายประสบอุบัติเหตุต้องผ่าตัด ฯลฯ
ดังนั้น การฝึกจิตเตรียมใจไว้สำหรับยามป่วยไข้จึงเป็นสิ่งจำเป็น หลายคนอยากทราบว่า เวลาเราเจ็บป่วย เราจะแยกจิตออกจากกายอย่างไร สิ่งที่ต้องทำคือ เราต้องเจริญสติให้เป็น “มหาสติ” ก่อน เปรียบเหมือนต้นไม้ที่แข็งแรง ถึงแม้แมลงจะเจาะเปลือก ถ้าแก่นในยังแข็งแรงอยู่ อย่างไรเสียต้นไม้นั้นก็ไม่ตาย
หากเราฝึกสติของเราให้เข้มแข็ง สติที่เข้มแข็งจะไปควบคุมใจซึ่งยึดมั่นในขันธ์ ๕ ได้ เพราะสติทำให้เกิดปัญญาพิจารณาไม่ไห้ไปยึดมั่นถือมั่นกับขันธ์ ๕ ด้วย นั่นคือเหตุแห่งทุกข์ ถ้าผู้ปฏิบัติผ่านญาณ ๑๐ ไปได้แล้ว ส่วนใหญ่ถึงจะป่วยกายก็ไม่ป่วยใจ สามารถแยกเวทนาออกจากกายได้ว่าเป็นคนละส่วนกัน กายไม่ใช่เรา เวทนาก็ไม่ใช่เรา แล้วเราจะไม่ทุกข์ไปกับกายกับเวทนาที่เป็นอยู่ แต่ถ้าปฏิบัติยังไม่ถึงญาณ ๑๐ สติยังไม่สูงพอ สมาธิส่งอารมณ์ไม่ได้ต่อเนื่อง ปัญญาญาณก็ยังไม่สมบูรณ์พอ ดังนั้นเวลาป่วย จิตจะไหลไปเคล้าคลึงอยู่กับเวทนาของกายและเวทนาของใจอยู่เนืองๆ ไม่สามารถแยกจิตออกจากกายได้เพราะเหตุนี้
ดังนั้น การที่เราปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อ
หนึ่ง สำหรับเตรียมตัว เตรียมใจ เวลาที่ป่วย ใจของเราจะได้ไม่ป่วย จิตจะได้ไม่เศร้าหมอง
สอง เวลาที่ผัสสะมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผลของกรรมเก่าที่เคยกระทำมา ถ้าสติสัมปชัญญะดี ถึงกรรมเก่าส่งผลก็จริง แต่จิตจะไม่ทุกข์ไปกับเวทนาที่เกิดขึ้น เรียกว่าเราอยู่กับทุกข์แบบไม่ทุกข์ เพราะเรามีสติเข้มแข็งพอที่จะยิ้มรับกับความเจ็บป่วยหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับนักปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติจนรู้เหตุการณ์อนาคต แต่จิตยังเศร้าหมองอยู่ ก็ถือว่าสติยังไม่เข้มแข็งพอ แต่หากรู้ว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นล่วงหน้าและยิ้มรับได้ ก็เรียกว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีกรรมฐานดี จึงไม่ทุกข์กับอนาคต เพราะสิ่งที่รู้อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เหมือนดั่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้วว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา นิมิตที่เห็นอาจเป็นจริงแต่ไม่ใช่ของจริง แต่เราไปยึดว่าเป็นของจริง ถ้าเรายึดหลักของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะไม่ทุกข์กับอนาคตเลย
นักปฏิบัติถ้าเกิดสมาธินำสติ ส่วนใหญ่จะตกภวังค์และไปเล่นอยู่กับนิมิต และเมื่อตกภวังค์แล้วเข้าฌานลึก ทำให้ไม่ค่อยรู้เท่าทันความคิด บางครั้งก็คิดไปในอดีต บางครั้งก็กังวลไปกับอนาคต แต่ถ้าเราทำวิปัสสนาญาณ มีสติอยู่กับปัจจุบัน เราจะเท่าทันความคิด เวลาจิตไหลลงไปล้วงอดีตจะตัดได้ไว เวลาที่จิตส่งออกไปเอื้อมอนาคตก็จะตัดได้ไว